“อภัยภูเบศร” เยือนอินเดียเยี่ยมชมแหล่งวิจัยสมุนไพร ตั้งเป้า ยืนหนึ่งนวัตกรรมเป็นฮับสมุนไพรระดับโลก

มูลนิธิรพ.อภัยภูเบศร ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล เยี่ยมชมเครือข่ายองค์ความรู้วิทยากรสมุนไพรแบบองค์รวม ณ ประเทศอินเดีย เพื่อสร้างเครือข่ายนักวิจัย และ ยกระดับพัฒนานวัตกรรมสมุนไพรของไทย

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการ มูลนิธิ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมวิจัยจากมูลนิธิรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร พร้อมด้วยผู้แทนจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เดินทางเข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงาน สถาบันกลางสมุนไพรและพืชหอม (Central Institute of Medicinal and Aromatic Plants (CIMAP)) เมืองลัคเนา รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มพูนทักษะความรู้แล้ว ยังเป็นการสร้างเครือข่ายงานวิจัยในระดับนานาชาติ และยังได้เรียนรู้กระบวนการที่นำมาใช้ในงานวิจัยระดับสูงของพืชสมุนไพรได้

ดร.สุภาภรณ์ กล่าวว่า สิ่งที่ได้รับในการศึกษาดูงาน และ การสร้างพันธมิตรด้านเครือข่ายนักวิจัยในครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นถึงการทำงานของ สถาบัน CIMAP ที่พัฒนาแบบครบวงจรด้านสมุนไพร ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางเน้นพืชหลักเป็นกลุ่มพืชที่มีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งก็เป็นกลุ่มที่โดดเด่นในบ้านเราเช่นกัน โดยพืชที่ได้รับการส่งเสริมและมีความใกล้เคียงกับสมุนไพรไทย เช่น ตะไคร้ แฝกหอม สะระแหน่ กระเพรา โหระพา และในการทำงานก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของอินเดีย สถาบันยังเป็นที่ปรึกษาและผลักดันเชิงนโยบายโดยมีงานวิจัย สิทธิบัตรสนับสนุน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนภายในประเทศอินเดีย นอกจากนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา เพื่อให้เกิดการบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกันแบบองค์รวม นอกจากผลักดันให้เกิดการปลูกและใช้ในประเทศแล้ว ยังเน้นส่งออกไปทางยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย สร้างมูลค่าเพิ่มให้สมุนไพรที่ส่งเสริม โดยมีภาพที่ชัดเจนและเชื่อมโยงให้งานวิจัยสามารถนำไปสู่การขยายกำลังการผลิตได้จริงในอุตสาหกรรม

“สอดคล้องกับเป้าหมายของมูลนิธิฯ ที่ก่อตั้ง “ศูนย์วิจัยนวัตกรรม เปรม ชินวันทนานันท์” เพื่อต้องการส่งเสริมเกษตรกรและไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจยกระดับการพัฒนาประเทศโดยใช้ฐานทรัพยากรและองค์ความรู้ทางการแพทย์ดั้งเดิม การใช้สมุนไพร เพิ่มมูลค่าให้สมุนไพรไทยผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพ” ดร.ภญ. สุภาภรณ์ กล่าว

เลขาธิการมูลนิธิ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวต่อว่า สิ่งที่มูลนิธิฯ ทำมาตลอด 39 ปี คือ พัฒนางานด้านสมุนไพร เพื่อยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์สมุนไพร และเพิ่มมูลค่าให้กับสมุนไพรของไทย เพื่อให้ประเทศไทยก้าวเป็นฮับด้านสุขภาพในระดับโลก ดังนั้น การเพิ่มศักยภาพของการทำงานจึงต้องไปพร้อมกับการสร้างความร่วมมือ และ การพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญ รอบด้าน การดูงานครั้งนี้ จะทำให้เกิดงานด้านสมุนไพรที่เป็นรูปธรรม และ ส่งผลกระทบเชิงสังคมและเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เรามุ่งหวังให้เกิดความมั่นคงทางยาสมุนไพร เพื่อให้ประชาชนในประเทศพึ่งตนเองได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *