วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประชุมปรึกษาคดีเพื่อที่จะมีมติกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาส่งความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 105 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 132 ว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … (พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.) มาตรา 25 และมาตรา 26 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 43 และมาตรา 94 หรือไม่ และตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่

ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตราขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มาตรา 25 ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93และมาตรา 94 และมีมติศาลรัฐธรรมนูญ โดยเสียงข้างมาก (7 ต่อ 2) วินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มาตรา 26 ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94
ขั้นตอนต่อไป ศาลรัฐธรรมนูญ แจ้งผลคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ไปยังประธานรัฐสภา เพื่อส่งร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ให้ นายกรัฐมนตรี ดำเนินการขั้นตอนทูลเกล้าฯ โดยก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ นายกฯ ต้องพักรอไว้ 5 วัน เผื่อมีสมาชิกรัฐสภา หรือ นายกฯ เห็นว่า ร่างกฎหมายนั้นมีข้อความขัด หรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ก็สามารถส่งให้ ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยหากพ้น 5 วันแล้ว ไม่มีประเด็นส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขั้นตอนต่อไปคือ นายกฯดำเนินการต่อ ในกระบวนการทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน
“นิกร”ขอขอบคุณศาลรัฐธรรมนูญที่ได้วินิจฉัยกรณีนี้ได้รวดเร็ว
ต่อมานายนิกร จำนง อดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รัฐสภา ได้ให้ความเห็นว่าเป็นไปตามที่ตนเองเชื่อว่าจะผ่านการวินิจฉัยไปด้วยดีเนื่องจากเป็นร่างกฎหมายที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นหน่วยงานผู้มีหน้าที่และอำนาจในการปฏิบัติการตามกฎหมาย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้ผ่านการตรวจสอบทบทวนเนื้อหาโดยคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกขั้นหนึ่งก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะเสนอต่อรัฐสภา จึงเชื่อมั่นว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีเนื้อหาที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญตามคำแถลงของ
ศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ สำหรับขั้นตอนภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจะแจ้งคำสั่งมายังรัฐสภา จากนั้นประธานรัฐสภาจะส่งไปยังนายกรัฐมนตรีโดยนายกรัฐมนตรีต้องดำเนินการนำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายตามมาตรา 145 ของรัฐธรรมนูญต่อไป จึงขอขอบคุณศาลรัฐธรรมนูญที่ได้วินิจฉัยกรณีนี้ได้รวดเร็วทันต่อการที่ระบบการเมืองไทยจะดำเนินต่อไปได้โดยไม่มีปัญหากับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
นายนิกร จำนง กล่าวในฐานะอดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า อย่างไรก็ตามคณะกรรมการการเลือกตั้งควรนำประเด็นการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญที่เห็นชอบร่วมกันมาก่อนแล้ว แต่มิได้ถูกนำมาบัญญัติไว้ด้วยใน ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านคำวินิจฉัยแล้วฉบับนี้ไปอย่างน่าเสียดาย ในเรื่องเกี่ยวกับวิธีการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และข้อสังเกตเกี่ยวกับการกำหนด
บัตรเลือกตั้งเพื่อมิให้เกิดความสับสนต่อประชาชนผู้ใช้สิทธิเช่นบัตรเลือกตั้งของปี 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหลักการที่ดีและจะเกิดประโยชน์กับทั้งผู้สมัครและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ตนจึงขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งรับข้อสังเกตดังกล่าวไปปฏิบัติในเชิงบริหารเพื่อให้เกิดประโยชน์เพิ่มเติมต่อประชาชนและประเทศชาติต่อไป
“หมอระวี”น้อมรับความพ่ายแพ้มั่นใจ เพื่อไทย โกยที่นั่ง ส.ส.ทิ้งห่างอับดับ 2 ไม่เห็นฝุ่น
เช่นเดียวกับ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 7 ต่อ 2 วินิจฉัยพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ว่า กระบวนการต่อไปนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ก็จะนำส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส ไปยังรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีจะมีเวลาอีก 5 วัน เพื่อรอว่าจะมีใครไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญคัดค้านอีกหรือไม่ หากไม่มีใครคัดค้านก็จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงปรมาภิไธย แต่ส่วนตัวตนจบแล้ว จะไม่มีการยื่นคัดค้านใด ๆ อีก และคงเอาเวลาไปเตรียมตัวเลือกตั้งครั้งหน้า
นพ.ระวี กล่าวต่อว่า สำหรับการโปรดเกล้าฯลงมา น่าจะอยู่ในช่วงเดือน ธ.ค.- ม.ค.66 โดยเชื่อว่าระหว่างนี้จะไม่มีการยุบสภา เพราะจะไม่มีกฎหมายรับรองการเลือกตั้ง ซึ่งเมื่อมีการทูลเกล้าฯลงมาแล้ว ก็อาจจะมีการยุบสภาในช่วงเดือน ก.พ.66
สำหรับการเมืองไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้านั้น นพ.ระวี กล่าวว่า สำหรับพรรคเล็กอาจจะมีบางส่วนที่มีการยุบพรรคเพื่อไปควบรวมกัน หรือบางพรรคอาจจะสู้ต่อ โดยเมื่อจบการเลือกตั้งในปีหน้าก็คงมีพรรคเล็ก หลายพรรคที่สูญพันธ์ ในส่วนของพรรคใหญ่ อย่างพรรคเพื่อไทยน่าจะมาเป็นอันดับหนึ่ง ส.ส.น่าจะได้ 200 บวกลบ ทิ้งอันดับ 2 ไม่เห็นฝุ่น โอกาสที่จะได้เป็นรัฐบาลก็สูงกว่า ซึ่งอาจจะมีการดึงพรรครัฐบาลในครั้งนี้เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลครั้งหน้า ก็คงต้องติดตามหลังการเลือกตั้งอีกครั้ง
เมื่อถามถึงพลังธรรมใหม่ นพ.ระวี กล่าวว่า ตนประกาศแล้วว่าจะสร้างพรรคแบบ unto พรรคเล็กจะค้องควบรวมกันให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งตนได้เชิญชวนทุกพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ใกล้เคียงเข้าร่วมงาน ทำเพื่อประชาชน หากไม่มีพรรคใดเข้าร่วม พลังธรรมใหม่ก็จะยืนหยัดสู้พรรคเดียวต่อไป