รบ.ขอบคุณทุกฝ่ายร่วมแก้หนี้ครัวเรือนเปิดรายชื่อ 14 ธนาคารร่วม

วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนการแก้หนี้ครัวเรือนของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาได้นำร่องในกลุ่มลูกหนี้ กยศ. ข้าราชการครูและตำรวจที่กู้ยืมจากสหกรณ์ ซึ่งมีความคืบหน้าและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับในส่วนของลูกหนี้อื่นๆที่กู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยและกรมบังคับคดีได้ขับเคลื่อนเรื่องการเจรจาแก้หนี้และประนอมหนี้

อีกทั้งทางธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้เป็นตัวกลางออกมาตรการ “รวมหนี้” สนับสนุนการรีไฟแนนซ์ (refinance) ตั้งแต่กันยายน 2564 แต่ยังพบว่าลูกหนี้ยังได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง จึงได้ออกมาตรการสนับสนุนการรีไฟแนนซ์และการรวมหนี้เพิ่มเติม เพื่อช่วยลดภาระให้กับลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ดีหรือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ซึ่งการรีไฟแนนซ์ คือ การปิดสินเชื่อจากเจ้าหนี้เดิมและย้ายไปใช้สินเชื่อของเจ้าหนี้ใหม่ ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ลูกหนี้ คือ อัตราดอกเบี้ยลดลง ลูกหนี้จะมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น เหลือหนี้ก้อนเดียวและอัตราดอกเบี้ยอัตราเดียวทำให้การชำระหนี้ง่ายขึ้น และลดโอกาสการเสียประวัติลูกหนี้ หากเจรจารวมหนี้สำเร็จก่อนเกิดปัญหาหนี้เสีย

ทั้งนี้ การรวมหนี้แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบหลัก คือ 1) การรวมหนี้ภายในสถาบันการเงินเดียวกัน2) การรวมหนี้ระหว่างสถาบันการเงิน โดยโอนหนี้บัตรจากธนาคารแห่งหนึ่งไปรวมกับหนี้บ้านของธนาคารอีกแห่งหนึ่ง หรือจะเป็นการโอนหนี้บ้านไปรวมกับหนี้บัตรก็ได้ 3) การโอนหนี้บ้านและหนี้สินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นไปรวมกันที่สถาบันการเงินแห่งใหม่ที่ลูกหนี้ไม่เคยมีหนี้ด้วยมาก่อน ขณะนี้ มี 14 ธนาคารที่สามารถยื่นขอรวมหนี้ภายในธนาคารหรือต่างธนาคารได้แล้ว คือกรุงเทพ กรุงไทย กรุงศรีอยุธยา กสิกร เกียรตินาคิน ซีไอเอ็มบีไทย ทหารไทยธนชาติ ทิสโก้ ไทยพาณิชย์ ยูโอบี แลนด์แอนเฮ้าส์ ไอซีบีซี ออมสิน และอิสลามแห่งประเทศไทย ส่วนที่อยู่ในขั้นดำเนินการ คือ ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย

รัฐบาลโชว์ไกล่เกลี่ยหนี้ครัวเรือนสำเร็จ 94.87% รวมกว่า 10,162 ลบ.

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ตามนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมว่า ที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมโดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ภายใต้บูรณาการความร่วมมือระหว่างกรมบังคับคดี และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ดำเนินการ “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สิน หนี้ครัวเรือน” ผ่านมาแล้ว 60 ครั้ง ข้อมูลล่าสุดเมื่อวานนี้ ณ วันที่ 23 ก.ค. 65 จัดขึ้นที่จังหวัดศรีสะเกษ อุบลราชธานี และปราจีนบุรี โดยภาพรวมมีลูกหนี้ขอไกล่เกลี่ยแล้วจำนวนทั้งสิ้น 51,145 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 48,523 ราย คิดเป็นร้อยละ 94.87 รวมทุนทรัพย์กว่า 10,162 ล้านบาท สามารถลดค่าใช้จ่ายของการฟ้องร้องคดีของประชาชนไปกว่า 4,358 ล้านบาท

“ทั้งนี้ การจัดมหกรรมยุติธรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือนฯ ทั่วประเทศ จะเหลืออีก 17 ครั้ง เสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคม เชิญชวนประชาชนที่มีคดีพิพาทก่อนฟ้อง และหลังศาลมีคำพิพากษา ร่วมงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน และยุติธรรมพบประชาชน (4 ภาค) ประจำปีงบประมาณ 2565 ภายใต้บูรณาการความร่วมมือระหว่างกรมบังคับคดี และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งจะเป็นการตอบโจทย์การแก้ไขหนี้สิน หนี้ กยศ. หนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรถยนต์ รวมถึงร่วมกันหาทางออก ฝ่าวิกฤติ สร้างโอกาส ก้าวไปด้วยกัน ณ สถานที่จัดงาน

สำหรับผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนยุติธรรม 1111กด77 /กรมบังคับคดี 02 881 4999 หรือสายด่วนกรมบังคับคดี 1111 กด 79 หรือ ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท 02 881 4840 และ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ 0 2141 2768-73″ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

“เลขาฯสมศักดิ์” มอบประกาศนียบัตรรับรองคุณภาพระดับดีเด่น ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนตำบลสวายศรีสะเกษ

ในการนี้ นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เลขานุการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ ดร.สำรวย รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมกิจกรรมและมอบประกาศนียบัตรรับรองคุณภาพมาตรฐาน ระดับดีเด่น แก่ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ต.สวาย อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ ภายหลังที่ได้รับการประเมิน 100 คะแนน จากยุติธรรมจังหวัดศรีสะเกษ โดยมีพระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์,ศ.ดร. (พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส) ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มจร และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ พระ ในฐานะประธานศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ได้นำคณะกรรมการบริหารศูนย์ เข้ารับมอบ

พระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์ ระบุว่า ตัวชี้ในการประเมินเพื่อให้คะแนนประกอบด้วยแผนในการบริหารศูนย์ กระบวนการบริหารศูนย์ จำนวนคดีที่สามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จ รวมถึงการพัฒนาคณะกรรมการไกล่เกลี่ยให้สามารถขึ้นทะเบียนเป็นไกลเกลี่ย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *