เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมหารือมาตรการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยมีนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 1 กระทรวงการคลัง
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เบื้องต้นได้ประเมินว่าจะมีเกษตรกรและเอสเอ็มอีที่อยู่ในข่ายได้รับการพักชำระหนี้จากนโยบายของรัฐบาลไม่เกิน 7 ล้านราย แบ่งเป็น เอสเอ็มอีประมาณ 3 ล้านราย และ เกษตรกรประมาณ 4 ล้านราย อย่างไรก็ดี ในส่วนของเกษตรกรนั้น จะเน้นไปยังกลุ่มรายย่อยเป็นหลัก แต่อยู่ระหว่างการพิจารณาว่า จะกำหนดวงเงินการพักหนี้ที่เท่าใด โดยจะต้องคำนึงถึงงบประมาณที่จะมาชดเชยให้แก่โครงการนี้ด้วย
“หลักของการพักหนี้ จะพักในกลุ่มเกษตรกรที่เป็นรายย่อย และ เอสเอ็มอี โดยไม่ต้องพิสูจน์ความทุกข์ยากใดๆ คาดจะสรุปรายละเอียดได้ภายใน 14 วัน จากนั้นจะเสนอที่ ครม.ได้ต้นเดือนต.ค.นี้ ซึ่งเรื่องนโยบายการพักหนี้เกษตรกรและเอสเอ็มอี และแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทแก่ประชาชน ผมได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เศรษฐา ทวีสิน ให้เป็นคนพิจารณาแนวทางการทำงาน”
ทั้งนี้ ภายในสัปดาห์หน้าจะนัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรุปแนวปฏิบัติเกี่ยวกับสองนโยบายดังกล่าว อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสถาบันการเงินของรัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน เป็นต้น โดยเชื่อว่าการพักชำระหนี้จะทำได้โดยไม่ติดขัด เนื่องจาก เป็นนโยบายที่หลายรัฐบาลได้ทำมาแล้ว แต่เมื่อรัฐบาลประกาศมาตรการแล้ว ลูกหนี้จะต้องแสดงตัวเพื่อตอบรับเข้าร่วมโครงการ ส่วนนโยบายต่อไปที่จะดำเนินการ คือ การแก้ไขปัญหาหนี้สินในกลุ่มสหกรณ์ ข้าราชการครู ตำรวจ และรวมถึงปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายให้กระทรวงการคลังเร่งดำเนินการเช่นกัน เพื่อช่วยแก้ไขและลดภาระหนี้สินของประชาชนโดยรวม
นายจุลพันธ์กล่าวว่า นโยบายการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทนั้น ยืนยันว่า จะเร่งพิจารณารายละเอียดควบคู่ไปกับนโยบายพักหนี้ดังกล่าว โดยเชื่อมั่นว่าจะแล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งประชาชนจะได้รับวงเงินและใช้จ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.67 เป็นต้นไป ส่วนรายละเอียดเรื่องแนวปฏิบัติการใช้จ่ายนั้น จะต้องหารือให้ชัดเจน โดยเงื่อนไขเบื้องต้น สินค้าที่ไม่ใช้ซื้อได้ คือ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับอบายมุข สินค้าและบริการของรัฐ เช่น สลากกินแบ่งรัฐบาล จ่ายค่าน้ำค่าไฟ เป็นต้น เพราะขัดกับหลักการในเรื่องที่รัฐบาลต้องการให้เม็ดเงินดิจิทัลเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)กล่าวว่า ธนาคารยืนยัน โครงการพักการชำระหนี้ของเกษตรกรตามนโยบายรัฐบาล จะไม่กระทบต่อสภาพคล่องของธนาคาร โดยปัจจุบันธนาคารมีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่ที่ 10.57 % ของสภาพคล่องทั้งหมด หรือเกือบ 2 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดไม่ควรต่ำกว่า 6 % ขณะเดียวกัน ธนาคารได้จัดทำแผนพิจารณา การพักชำระหนี้ เสนอไปหลายแนวทางให้พิจารณาแล้ว โดยปัจจุบันธนาคารมีลูกหนี้ 4.2 ล้านราย มีลูกค้าที่มีหนี้ต่ำกว่า 1 แสนบาท ประมาณ 30 %